Site icon OpenPDPA

สรุปทุกประเด็น PDPA กับ GDPR ต่างกันอย่างไร?

pdpa กับ gdpr

บทความนี้ว่ากันด้วยเรื่องความแตกต่างของ PDPA กับ GDPR ว่า ขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายและข้อแตกต่างของตัวกฎหมาย เพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจ เรามาเริ่มกันที่ว่า ที่มาของกฎหมายกันก่อนนะครับ

PDPA (Personal Data Protection Act) คืออะไร

พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือที่เรียกกันอย่างติดปากว่า PDPA เป็นกฎหมายที่ถูกออกแบบมาเพื่อกำหนดมาตราการและหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ ในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคหรือผู้ใช้บริการ แม้ว่าประเทศไทยจะได้มีการออกกฎหมายนี้ภายหลังประเทศอื่น แต่การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่เลย หากพิจารณาดูแล้ว เราทุกคนก็คงต้องเคยเห็นผ่านตากันมาบ้าง เช่น การสมัครสมาชิกเว็บไซต์ต่าง ๆ หรือการให้ข้อมูลส่วนตัวแบบออฟไลน์ เช่น การยื่นใบสมัครงาน หรือการสมัครสมาชิกกับทางศูนย์การค้า ก็เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเลี่ยงไม่ได้ และเป็นสิ่งที่ควรจะต้องได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมาย โดยเฉพาะในปัจจุบันซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ แม้ว่าจะมีการเลื่อนการบังคับใช้ PDPA ไปยังวันที่ 1 มิถุนายน 2565 เนื่องจากสถานการของโรคโควิด 19 ซึ่งทำให้องค์กรต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคธุรกิจก็มีความตื่นตัวอย่างมากและมีการเตรียมพร้อมทั้งทางด้านการปฏิบัติและนโยบายเพื่อให้มีความสอดคล้องกันกับ PDPA

GDPR (General Data Protection Regulation) คืออะไร

สหภาพยุโรป หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า EU ได้บังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561 ภายใต้ชื่อ  GDPR ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีอิทธิพลอย่างมากและส่งผลให้ประเทศหรือกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ มีความตื่นตัวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และถือได้ว่าตัว GDPR เองก็เป็นกฎหมายต้นแบบของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลต่าง ๆ ทั่วโลก รวมไปถึง PDPA ของประเทศไทยหรือประเทศสิงคโปร์ด้วย จนถึงมีคำพูดที่ว่า “หากผ่าน GDPR ก็ถือว่าผ่าน PDPA ด้วย” อย่างไรก็ตามแม้ว่า GDPR จะถูกนำมาเป็นต้นแบบในการร่างกฎหมายคุ้มครองส่วนบุคคล กฎหมายของแต่ละประเทศย่อมมีความแตกต่างกันตามบริบทของเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนไปถึงวัฒนธรรม โดยที่ในบทความนี้จะพูดถึงความแตกต่างระกว่าง GDPR ของสหภาพยุโรป และ PDPA ของประเทศไทยในด้านต่าง ๆ

PDPA กับ GDPR แตกต่างกันอย่างไร?

1. ขอบเขตของบุคคลที่กฎหมายบังคับใช้

GDPR ได้วางแนวทางในการประมวลผลข้อมูลให้บังคับใช้ต่อบุคคลธรรมดาไม่ว่าจะสัญชาติใดหรือพำนักอยู่ที่ใด ในขณะที่ PDPA นั้นบังคับใช้ต่อเจ้าของข้อมูลที่อยู่ในประเทศไทยโดยไม่ได้กล่าวถึงเรื่องของสัญชาติหรือถิ่นที่อยู่ไว้อย่างชัดเจน

2. ขอบเขตการบังคับใช้ของกฎหมาย

PDPA ไม่ได้มีการแสดงให้เห็นความแตกต่างหรือกล่าวถึงวิธีการประมวลผลข้อมูลไม่ว่าจะเป็นการประมวลผลข้อมูลแบบอัตโนมัติหรือไม่ ในขณะที่การบังคับใช้ของ GDPR นั้นครอบคลุมไปจนถึงวิธีประมวลผลข้อมูลไม่ว่าจะเป็นไปโดนอัตโนมัติหรือไม่หากข้อมูลนั้นเป็นส่วนหนึ่งของระบบไฟล์ลิ้ง นอกจากนนี้ GDPR ยังไม่บังคับใช้ต่อ ข้อมูลนิรนาม และไม่ครอบคลุมไปยังการประมวลผลข้อมูลโดยองค์กรนิติบัญญัติเช่น สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือ รัฐสภา อีกด้วย

ข้อมูลนิรนาม (Anonymous Data) ข้อมูลที่ถูกทำให้ความเสี่ยงในการระบุถึงตัวเจ้าของข้อมูลน้อยจนแทบไม่ต้องให้ความสำคัญกับความเสี่ยงครับ

และแม้ว่า PDPA จะกล่าวถึงการให้สิทธิในการร้องขอให้ทำข้อมูลให้เป็นข้อมูลนิรนาม แต่ก็ไม่ได้กล่าวถึงกรณีที่ข้อมูล
นิรนามดังกล่าวนั้นไม่อยู่ภายใต้บังคับชอง PDPA ไว้อย่างชัดเจนและ PDPA ยังได้ยกเว้นการบังคับใช้ในกรณีของการประมวลผลข้อมูลโดยองค์กรนิติบัญญัตินั้นเช่น สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือ รัฐสภา ตลอดจนไปถึงคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือ รัฐสภา ที่รวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลภายใต้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนั้น ๆ นอกจากนี้ขอบเขตการยกเว้น PDPA ยังได้ครอบคลุมไปถึงการดำเนินการของข้อมูลต่าง ๆ ของบริษัทเครดิตบูโรด้วย

3. ความหมายของข้อมูลส่วนบุคคล และข้อมูลนิรนาม

ในขณะที่ GDPR ได้ระบุไว้ว่าข้อมูลออนไลน์ต่าง ๆ เช่น IP address, cookies และ รหัสบ่งชี้โดยใช้ความถี่ของคลื่นวิทยุ หรือ RFID ว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ในขณะที่ PDPA ไม่ได้มีการระบุไว้ว่าข้อมูลดังกล่าวเข้าข่ายการเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ส่วนในด้านของข้อมูลนิรนามซึ่งเป็นข้อมูลที่ถูกทำให้ไม่สามารถระบุไปยังตัวตนของเจ้าของข้อมูลได้นั้น PDPA ได้วางหลักให้สิทธิในการขอให้ทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นข้อมูลนิรนามแต่ก็ไม่ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าข้อมูลนิรนาม ๆ ไม่ได้อยู่ภายใต้บังคับของ PDPA ในขณะที่ GDPR จะไม่บังคับใช้กับข้อมูลที่ถูกทำให้นิรนาม

4. การบังคับใช้ต่อข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เยาว์

PDPA ไม่ได้มีการระบุถึงความคุ้มครองพิเศษที่ให้แก่ข้อมูลสวนบุคคลของผู้เยาว์ที่ถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ เช่น การตลาด หรือข้อมูลส่วนบุคคลที่ถูกจัดเก็บเพื่อบริการต่าง ๆ ที่ผู้เยาว์นั้นได้รับโดยตรง และไม่ได้กำหนดให้มีเงื่อนไขเพิ่มเติมสำหรับผู้ควบคุมข้อมูล (Data Controller) ในกรณีนี้อีกด้วย และในกรณีของความยินยอมในการให้ข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหว PDPA ก็ไม่ได้ระบุไว้ว่าผู้ควบคุมข้อมูลจะต้องทำการยืนยันว่าความยินยอมนั้นได้ให้โดยหรือได้รับการรับรองโดยผู้ปกครองของผู้เยาว์

ในด้านของ GDPR ที่ได้มองผู้เยาว์เป็นกลุ่มของบุคคลที่มีความอ่อนไหว ได้มีการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เยาว์โดยเฉพาะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เยาว์นั้นถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการตลาดหรือถูกเก็บไปเพื่อบริการต่าง ๆ ที่เสนอให้แก่ผู้เยาว์โดยตรง โดยเมื่อข้อมูลใด ๆ ได้มีการสื่อสารไปยังผู้เยาว์โดยตรงผู้ควบคุมข้อมูลจะต้องดำเนินมาตราการที่เหมาะสมเพื่อให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับการประมวลผลข้อมูลของผู้เยาว์ที่ กระชับ โปร่งใส ที่อยู่ในรูปแบบที่เข้าใจและเข้าถึงง่าย โดยใช้ภาษาที่ชัดเจนและเรียบง่ายที่ผู้เยาว์สามารถทำความเข้าใจได้ และ GDPR ก็ยังได้กำหนดให้ผู้ควบคุมข้อมูลจะต้องใช้ความพยายามตามสมควรเพื่อยืนยันว่าความยินยอมของผู้เยาว์นั้นได้ถูกให้หรือได้รับการรับรองโดยผู้ปกครองของผู้เยาว์อีกด้วย

5. บันทึกการประมวลผลข้อมูล

ในส่วนของ PDPA ในมาตรา 40 (3) ได้กำหนดแค่เพียงว่าจะต้องจัดทำและเก็บรักษาบันทึกรายการของกิจกรรมการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลไว้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกำหนด เพียงเท่านั้น

ในขณะที่ GDPRได้กำหนดรายการของข้อมูลต่าง ๆ ที่ผู้ประมวลผลข้อมูลจะต้องบันทึกลงในบันทึกการประมวลผลข้อมูล โดยจะต้องประกอบไปด้วย

ประเด็นสำคัญในข้อพิจารณานี้ของ GDPR คือผู้ควบคุมข้อมูลจะต้องบันทึกการถ่ายโอนข้อมูลส่วนบุคลระหว่างประเทศโดยพร้อมทั้งระบุว่าเป็นประเทศใดหรือองค์กรระหว่างประเทศใดและเอกสารที่แสดงให้เห็นถึงมาตราการการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่นำมาใช้

สรุป ความแตกต่างระหว่าง PDPA กับ GDPR

โดยภาพรวมแล้วจะเห็นได้ว่าความแตกต่างระหว่าง PDPA กับ GDPR นั้นไม่ได้เป็นความแตกต่างที่เป็นสาระสำคัญ เพียงแต่ GDPR ได้กำหนดแนวทางต่าง ๆ รวมไปถึงรายการ รายละเอียดที่ชัดเจนเนื่องจากเป็นกฎหมายที่บังคับใช้แล้วเป็นระยะเวลาพอสมควรอีกทั้งครอบคลุมทั้งสหภาพยุโรปและองค์กรต่าง ๆ ที่มีการถ่ายโอนข้อมูลส่วนบุคคลเข้า-ออกสหภาพยุโรป ในอนาคตเมื่อ PDPA ของไทยถูกบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบย่อมต้องมีกฎหมายลูกและแนวทางปฏิบัติที่จัดทำโดยหน่วยงานที่มีอำนาจออกมาเพื่อยกระดับมาตราฐานของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของไทยต่อไป

Exit mobile version